โรคหลอดเลือดหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัว

เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานได้อย่างปกติ การที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้อย่างปกตินั้น ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากอะไร?

“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจ “Coronary” เสื่อมสภาพ ทำให้มีความหนาตัวขึ้นจากการอุดตันของไขมันและเนื้อเยื่อ เป็นเหตุให้หลอดเลือดตีบ การไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจลดน้อยลงและหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” ได้

“ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” นี่เอง ที่ส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการออกมาเป็นอาการเจ็บหน้าอกหนักๆ แถมถ้าเกิดไขมันที่สะสมอยู่บนผนังหลอดเลือดชั้นในเกิดการแตกตัวออกกลายเป็นลิ่มเลือด ก็อาจทำให้เกิดการอุดตันแบบฉับพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” และเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจมีสาเหตุจากการรวมตัวกันของไขมันที่ผนังภายในหลอดเลือดหัวใจ โดยก้อนไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอลและของเสียอื่น ๆ และมีชื่อว่าอเธอโรมา (Atheroma) การเกาะตัวกันของก้อนไขมันทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวหรือกระบวนการที่เรียกว่าอะเทอโรสเคลอโรซิส (Atherosclerosis) รวมถึงการขัดขวางทางเดินของเลือด ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดกระบวนการเหล่านี้ ได้แก่

  1. คอเลสเตอรอล  ไขมันอิ่มตัวในอาหารที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ในร่างกาย แต่คอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่มากเกินไปอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่มี 2 ประเภทที่สำคัญ คือ
  2. LDL หรือ “ไขมันร้าย” ไขมันร้าย LDL คือตัวการปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ
  3. HDL หรือ “ไขมันดี” ทำหน้าที่นำไขมันร้ายออกจากเซลล์ต่าง ๆ และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
  4. โรคความดันโลหิตสูง  ความดันโลหิตสูงส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก  จนเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว  ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ
  5. การสูบบุหรี่ หมายความถึงผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น (ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง) ผู้ที่บริโภคยาสูบแบบไม่มีควัน เช่น ยาฉุน ยาเส้น รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่ติดต่อกันมาเป็นเวลานานและเพิ่งหยุดสูบได้ไม่นาน พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า
  6. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังส่งผลให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งทำให้อวัยวะต่างๆ ของร่างกายเสื่อมสภาพและถูกทำลาย และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้
  7. ความเครียด ปัจจัยทางด้านความเครียด ที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สภาพจิตใจที่โศกเศร้ามีความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกันและยังไม่สามารถจัดการกับสาเหตุของความเครียดนั้นได้ ภาวะเก็บกดด้านอารมณ์

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นอย่างไร?

  • มักจะเหนื่อยง่ายเฉียบพลัน เวลาที่ออกกำลังหรือต้องใช้แรงจำนวนมาก
  • หายใจหอบ หายใจเข้าได้ไม่เต็มปอด และไม่สามารถนอนราบกับพื้นได้
  • หน้ามืด เวียนหัว และแน่นหน้าอก เนื่องจากความดันโลหิตต่ำแบบเฉียบพลัน
  • เจ็บหน้าอกเหมือนถูกเค้นแรงๆ หมายรวมไปถึงอาการร้าวตั้งแต่ คอ กราม ไหล่ และแขน 2 ข้าง
  • ในกรณีที่รุนแรง อาจหมดสติหรือมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวาย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

     ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ และพันธุกรรม โดยมักจะเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเพศชาย แต่หากเพศหญิงหมดประจำเดือนก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคเช่นกัน แล้วถ้ายิ่งสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้มาก่อน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้น

     ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ มักเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเกิดขึ้นเมื่อมีอาการและพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

  • มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • มีความดันโลหิตสูง
  • มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
  • มีความเครียดสะสม
  • ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • ไม่ค่อยกินผักและผลไม้
  • สูบบุหรี่จัด

ซึ่งสามารถลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น

การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจคือระดับคอเลสเตอรอล การสูบบุหรี่ เบาหวาน และความดันโลหิต การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ซึ่งทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายมักมีแนวโน้มที่จะประสบภาวะหัวใจวายได้มากถึง 2 เท่า ออกกำลังกายเป็นเวลา 30-60 นาทีใน 4-5 วันต่อสัปดาห์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • อาหารประเภทไขมันต่ำและกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วและธัญพืชมีคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว และโซเดียมในระดับต่ำ ซึ่งช่วยควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลได้
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง  เช่น อาหารแปรรูปประเภทไส้กรอกหรือลูกชิ้น เนย ชีส เค้กและอาหารที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์ม
  • ควรลดและจำกัดปริมาณเกลือ  ไม่เกิน 6 กรัมหรือประมาณหนึ่งช้อนชาต่อวัน เพื่อลดอัตราการเกิดความดันโลหิตสูง
  • งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สารนิโคตินในบุหรี่ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ยังทำหน้าที่ลดปริมาณออกซิเจนในเลือดและทำลายผนังเลือดอีกด้วย
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หากไม่สามารถงดเว้นได้ ไม่ควรดื่มอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจวายได้
  • ควบคุมความเครียด ควรฝึกวิธีการควบคุมความเครียด เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการหายใจ เป็นต้น
  • ตรวจสุขภาพ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่อาจเกิดขึ้น
  • ควบคุมความดันโลหิต ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการควบคุมความดันโลหิตที่เหมาะสมกับอายุและอาการของตนเอง
  • ควบคุมคอเลสเตอรอล ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามอายุและข้อจำกัดของผู้ป่วยแต่ละคน
  • ควบคุมโรคเบาหวาน โรคเบาหวานถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับ 130/80mmHg
Menu